::สมาคมผู้ปกครองและครู::

โรงเรียนสระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว

ระเบียบข้อบังคับ

ระเบียบข้อบังคับ

สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสระแก้ว

 

หมวดที่ 1 ชื่อ สถานที่ตั้ง และเครื่องหมายสมาคม

ข้อ 1     สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสระแก้ว” ชื่อย่อว่า   “สปค.สก.”

ข้อ 2     สำนักงานของสมาคมนี้ตั้งอยู่ที่โรงเรียนสระแก้ว เลขที่ 58 ถนนสุวรรณศร ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว รหัสไปรษณีย์ 27000


ข้อ 3     สมาคมนี้มีเครื่องหมายดังนี้

  • อักษร สก เป็นอักษรย่อโรงเรียนสระแก้ว
  • รูปมือสองคู่ชูประคองอักษร สก เป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือจากบุคลหลายกลุ่มเพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของโรงเรียนสระแก้ว
  • ข้อความ สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสระแก้ว”ในแถบโค้งด้านล่างเป็นชื่อของสมาคม
  • รูปทรงซุ้มเรือนแก้วสีเหลืองล้อมรอบอักษร สปค.สก และแถบสีเขียวโค้งเป็นพื้นของชื่อสมาคม เป็นสัญลักษณ์สีประจำโรงเรียนสระแก้ว คือ สีเขียว – เหลือง

นิยามศัพท์ในระเบียบนี้

  1. สมาคม หมายถึง สมาคมผู้ปกครองครูและโรงเรียนสระแก้ว
  2. โรงเรียน หมายถึง โรงเรียนสระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว
  3. ครู หมายถึง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และครูอัตราจ้าง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำในโรงเรียนสระแก้ว
  4. ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้อุปการะนักเรียนโรงเรียนสระแก้วทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย และเป็นผู้ที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบตัวนักเรียน
  5. นายกสมาคม หมายถึง นายกสมาคมผู้ปกครองครูและโรงเรียนสระแก้ว
  6. คณะกรรมการบริหาร หมายถึง สมาชิกของสมาคมที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุม ให้ปฏิบัติหน้าที่บริหารสมาคม

 

 

หมวด 2 วัตถุประสงค์

ข้อ 4     วัตถุประสงค์ของสมาคมมีดังนี้

  • เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ปกครอง ครู และนักเรียน

(2)  เพื่อความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองและครู ในการที่จะเสริมสร้างให้นักเรียนเจริญก้าวหน้าในด้านการศึกษา ศีลธรรมและวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

(3) เพื่อส่งเสริมสวัสดิการของผู้ปกครอง  ครู และนักเรียน

(4) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองและครู ได้ร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียน รวมทั้งการให้คำแนะนำในการศึกษาและอาชีพในอนาคต

(5) เพื่อส่งเสริมการศึกษา เผยแพร่วิทยาการและบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์เพื่อเกียรติคุณและชื่อเสียงของโรงเรียน

(6) เพื่อความร่วมมืออันดีกับรัฐบาล องค์การ สมาคม หรือคณะบุคคล ในอันที่จะเสริมสร้างให้เยาวชนและนักเรียนมีความรู้ ความประพฤติดี และสุขภาพอนามัยดี

ข้อ 5 การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมนี้ จะต้องไม่ขัดกับนโยบายและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการและไม่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง

 

หมวด 3  ประเภทของสมาชิก  สมาชิกภาพ และค่าบำรุง

ข้อ 6     สมาชิกของสมาคมมี 2 ประเภท คือ

  1. สมาชิกกิตติมศักดิ์
  2. สมาชิกสามัญ

ข้อ 7  สมาชิกกิตติมศักดิ์  ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีเกียรติ หรือผู้มีอุปการคุณแก่โรงเรียน หรือผู้ที่สมาคมเห็นควรเชิญเข้ามาเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์  ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมีมติเป็นเอกฉันท์

ข้อ 8 เมื่อคณะกรรมการบริหารเห็นควรให้เชิญผู้ใดเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ นายกสมาคมมีหนังสือเชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ตามนั้น และสภาพการเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์เริ่มวันที่ได้รับแจ้งตอบรับจากผู้รับเชิญเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ 9 สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่บรรลุนิติภาวะโดยไม่จำกัด เพศ สัญชาติ ศาสนา มีความประพฤติดี เป็นที่ยอมรับของสังคม และต้องมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

  • เป็นบิดา มารดาของนักเรียนโรงเรียนสระแก้ว
  • เป็นผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนสระแก้ว
  • เป็นครู หรือครูอัตราจ้างของโรงเรียนสระแก้ว
  • บุคคลที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรเชิญเป็นสมาชิกสามัญ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์

 

ข้อ 10  การเข้าเป็นสมาชิกสามัญนั้น ต้องแสดงความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกเป็นลายลักษณ์อักษรตามแบบของสมาคม

ข้อ 11 เมื่อได้มีประกาศชื่อของผู้ยื่นใบสมัครไว้ ณ สำนักงานสมาคมไม่น้อยกว่า 7 วัน จะมีผู้คัดค้านหรือไม่ก็ให้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณา ถ้าที่ประชุมคณะกรรมการเห็นว่าไม่สมควรรับเป็นสมาชิกเพราะเหตุใดให้แจ้งให้ผู้สมัครทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันมีมติ และถ้าผู้นั้นข้องใจก็ให้คัดค้านพร้อมด้วยชี้แจงเหตุผลที่คณะกรรมการบริหารอ้างไม่รับเป็นสมาชิกนั้นภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งเพื่อพิจารณาใหม่และขอชี้แจงเพิ่มเติมในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารก็ได้ มติครั้งที่ 2 ของคณะกรรมการบริหารเป็นประการใด ให้ถือมตินั้นเป็นมติเด็ดขาด

ข้อ 12 เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมีมติรับผู้ใดเจ้าเป็นสมาชิกของสมาคมให้เลขาธิการของสมาคมรีบแจ้งให้สมาชิกทราบ พร้อมทั้งแจ้งให้นำค่าขึ้นทะเบียนและบำรุงสมาคม สภาพการเป็นสมาชิกสามัญ เริ่มแต่วันที่ได้ชำระค่าบำรุงสมาคมตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 14

ข้อ 13 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าขึ้นทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม

ข้อ 14 สมาชิกสามัญต้องเสียค่าขึ้นทะเบียน 50 บาท ค่าบำรุงสมาคม ดังนี้

  • สมาชิกสามัญตามข้อ 9(1) (2) และ (4) เสียค่าบำรุงสมาคมปีละ 1,000 บาทหรือ

แบ่งชำระเป็นภาคเรียนละ 500 บาท

(2)  สมาชิกสามัญตามข้อ 9(3) เสียค่าบำรุงสมาคมตลอดอายุการเป็นสมาชิกชำระครั้งเดียว 1,000 บาท และถ้ามีบุตรเป็นนักเรียนโรงเรียนสระแก้วก็ไม่ต้องเสียค่าบำรุงสมาชิกรายปีอีก

ข้อ 15 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกมีดังนี้

(1) ประดับเครื่องหมายสมาคม

(2) ใช้สถานที่ของสมาคมตามวัตถุประสงค์ของสมาคมแต่ต้องเป็นไปตามระเบียบของสมาคม

(3) ติดต่อกับสมาคม รวมถึงการสอบถามหรือให้ข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมการบิหารของสมาคมตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

(4) เสนอญัตติเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหารให้นำเข้าระเบียบวาระเพื่อพิจารณาในที่ประชุม แต่ต้องมีสมาชิกรับรองในญัตตินั้นไม่น้อยกว่า 2 คน

(5) สมาชิกร่วมกันไม่น้อยกว่า 10 คน ทำหนังสือโดยลงลายชื่อไว้ทุกคนในหนังสือนั้น

ยื่นต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมเพื่อเรียกประชุมใหญ่เป็นกรณีพิเศษได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของสมาคม แสดงไว้ในหนังสือที่ยื่นด้วย

 

ข้อ 16  สิทธิของสมาชิกในการประชุมใหญ่

(1)  เข้าร่วมประชมอภิปรายตามข้อความที่ปรากฏอยู่ในระเบียบวาระการประชุม

(2) ให้ข้อคิดเห็นหรือซักถามข้อข้องใจในข้อความที่ปรากฏอยู่ในระเบียบวาระการประชุม

(3) เสนอสมาชิกอื่นให้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการและถูกเสนอชื่อเพื่อรับเลือกตั้ง

เป็นกรรมการ

(4) ออกเสียงลงมติและเสนอให้ลงมติ

(5) รับรองข้อเสนอที่สมาชิกอื่นเสนอ

(6) ขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมโดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 5 คนให้นำความ

ในวรรคสองข้อบังคับที่ 29 มาบังคับในที่ประชุมใหญ่โดยอนุโลม

ข้อ 17 สมาชิกของสมาคม นอกจากมีหน้าที่ประการอื่นตามข้อบังคับนี้แล้ว ย่อมมีหน้าที่โดยทั่วไปในอันที่จะช่วยส่งเสริมสมาคมให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของสมาคมและจะต้องปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของสมาคมอีกด้วย

ข้อ 18 สมาชิกภาพแห่งสมาชิกย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ

(1) ตายหรือโดยคำพิพากษาของศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ เป็นคนล้มละลาย เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถหรือต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดลหุโทษหรือการกระทำโดยประมาท

(2) ลาออกโดยยื่นต่อคณะกรรมการบริหารและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร

(3) ขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความในข้อ 9

(4) คณะกรรมการบริหารลงมติให้พ้นจากสมาชิกภาพในกรณีที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) ประพฤติตนให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สมาคมหรือเป็นที่รังเกียจแก่สุภาพชน

(ข) ละเมิดระเบียบหรือข้อบังคับของสมาคมโดยเจตนา เมื่อได้รับคำเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการบริหารแล้วปรากฏว่ายังกระทำอยู่

ตามความในข้อ (4) นี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหาร ถ้าเห็นว่ายังไม่ถึงต้องให้พ้นจากสมาชิกภาพจะเพียงภาคทัณฑ์ก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องให้โอกาสแก่สมาชิกผู้นั้นชี้แจงในเวลาที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งต้องให้โอกาสไม่น้อยกว่า 15 วัน นับแต่วันแจ้งให้มาชี้แจ้ง

ข้อ 19 เมื่อสมาชิกภาพของผู้ใดสิ้นสุด ผู้นั้นจะยกเอาสาเหตุนั้นมาอ้างเรียกร้องค่าเสียหายหรืออื่นใดจากสมาคมหรือคณะกรรมการบริหารประการใดไม่ได้

เมื่อสมาชิกภาพสิ้นสุดลงแล้ว ต่อมาถ้าประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกอีก จะต้องปฏิบัติเสมือนผู้ที่ยังไม่เคยเป็นสมาชิกมาก่อน

ถ้านักเรียนเปลี่ยนผู้ปกครอง ผู้ปกครองคนใหม่ซึ่งมิใช่สมาชิกของสมาคม จะต้องสมัครเป็นสมาชิกใหม่ จะใช้สิทธิผู้ปกครองเดิมมิได้

กรณีนักเรียนในปกครองของสมาชิกลาออกหรือจบการศึกษาช่วงชั้นปีการศึกษาใด หากในปีการศึกษาถัดไป ยังเป็นผู้ปกครองของนักเรียนเข้าใหม่หรือนักเรียนเดิมที่ขึ้นช่วงชั้นใหม่ ถือว่าสมาชิกไม่ขาดคุณสมบัติตามข้อ 9(1) และ (2) ไม่ต้องชำระค่าขึ้นทะเบียนอีก

หมวด 4 คณะกรรมการบริหาร

ข้อ 20 ให้มีคณะกรรมการบริหารคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการบริหารทำหน้าที่บริหารสมาคมประกอบด้วยสมาชิกไม่น้อยกว่า 15 คน แต่ต้องไม่เกิน 22 คน ซึ่งทำหน้าที่ดังนี้

  1. นายกสมาคม
  2. อุปนายกคนที่ 1
  3. อุปนายกคนที่ 2
  4. อุปนายกคนที่ 3
  5. เลขาธิการ
  6. เหรัญญิก
  7. นายทะเบียน
  8. ปฏิคม
  9. นักวิชาการ
  10. นักศึกษาสงเคราะห์
  11. ประชาสัมพันธ์
  12. กรรมการอื่นๆอีกไม่เกิน 11 คน

ข้อ 21 กรรมการบริหารตามข้อ 20(1) (3) และ (4) เลือกตั้งโดยสมาชิกสามัญในที่ประชุมใหญ่ ส่วนอุปนายกคนที่ 1 ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนสระแก้วโดยตำแหน่ง

ข้อ 22 ให้นายกสมาคมและอุปนายกทั้ง 3 คน ร่วมกันพิจารณาตั้งสมาชิกของสมาคมที่มิได้เป็นครูโรงเรียนสระแก้วไม่เกิน 9 คน เป็นกรรมการบริหาร และให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสระแก้วร่วมกับครูที่เป็นสมาชิกพิจารณาเสนอชื่อครูที่เป็นสมาชิกต่อนายกสมาคม เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคมอีกไม่เกิน 9 คน

ข้อ 23 ให้นายกสมาคม แต่งตั้งกรรมการบริหารจากข้อ 21 และข้อ 22 ให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ

ตามข้อ 20

ข้อ 24 กรรมการทุกตำแหน่ง เว้นนายกสมาคมและอุปนายก มีสิทธิ์แต่งตั้งสมาชิกเป็นผู้ช่วยได้ตามความจำเป็น ผู้ช่วยกรรมการมีสิทธิ์เข้าประชุมแสดงความคิดเห็นแต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากผู้ที่ตนแทนเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ 25 คณะกรรมการบริหารมีสิทธิที่จะวางระเบียบในการปฏิบัติงานใดๆ ตามแต่เห็นสมควร โดยไม่ขัดต่อข้อบังคับสมาคม และอาจมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการหรือผู้ใดให้ดำเนินงานนั้นๆ เพื่อบริหารงานให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย

ข้อ 26 คณะกรรมการบริหารสมาคมอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วให้บริหารงานไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการชุดใหม่มารับมอบหมายงาน ทั้งต้องมอบหมายงานให้เสร็จภายใน 90 วันถ้าคณะกรรมการบริหารตำแหน่งใดว่างลงก่อนกำหนด ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาแต่งตั้งซ่อม ผู้ที่เข้าเป็นกรรมการในกรณีนี้ให้อยู่ในตำแหน่งเท่าเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน

ข้อ 27 สิทธิและหน้าที่ของกรรมการ

(1) นายก  มีอำนาจและหน้าที่ควบคุมกิจการของสมาคมทั่วๆไปให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับของสมาคม และมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร เป็นหัวหน้ากรรมการบริหาร ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม เป็นผู้ลงนามแทนสมาคมในกิจการงานและหนังสือ

(2) อุปนายก  มีหน้าที่ปฏิบัติการแทนนายกในกิจการทั่วไปในขณะที่นายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยได้รับมอบหมายจากนายก

(3) เลขาธิการ  มีหน้าที่และรับผิดชอบบังคับบัญชาการบริหารงานให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งของนายก เตรียมระเบียบวาระการประชุม และรักษารายงานการประชุม ร่างหนังสือโต้ตอบ รับผิดชอบงานซึ่งยังมิได้จัดให้ตำแหน่งใด และเป็นผู้ติดต่อประสานงานเกี่ยวกับกิจการของสมาคมโดยทั่วไป

(4) เหรัญญิก มีหน้าที่รับผิดชอบในการเงิน การบัญชี และทรัพย์สินทุกอย่างของสมาคมภายในระเบียบ และที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

(5) ปฏิคม มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับรองและการให้ความสะดวก ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการจัดและรักษาสถานที่

(6) นักวิชาการ ดำเนินการเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับของสมาคม งานส่งเสริมการศึกษาและกิจกรรมนักเรียนของโรงเรียนสระแก้ว

(7) นายทะเบียน มีหน้าที่รับสมัครสมาชิก ตรวจสอบคุณสมบัติ จัดทำทะเบียนรายชื่อสมาชิก และทำหน้าที่เจ้าหน้าที่พัสดุของสมาคม

(8) นักศึกษาสงเคราะห์ มีหน้าที่เกี่ยวกับทุนการศึกษา สวัสดิการแก่นักเรียนและครู และสังคมสงเคราะห์ทั่วไป

 

(9) ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการประสานงานทั่วไป ความเข้าใจ ความร่วมมือ และแจ้งข่าวความเคลื่อนไหวของสมาคมอื่นๆ

(10) คณะกรรมการอื่นๆ นอกจาก (1) ถึง (9) มีหน้าที่ช่วงเหลืองานของแผนกต่างๆเป็นส่วนรวม และปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการบริหารมอบหมาย

หมวด 5  การประชุม

ข้อ 28  ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือกิจการของสมาคม ต้องมีกรรมการร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงครบองค์ประชุม

ข้อ 29  ตามปกติให้มีการประชุมใหญ่ปีละครั้ง เพื่อปรึกษาหารือบริหารงานตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม เสนอบัญชีรายรับรายจ่ายในรอบปี แต่งตั้งผู้ตรวจบัญชี สมาชิกเข้าประชุมอย่างน้อย 50 คนจึงจะถือเป็นองค์ประชุม ถ้าสมาชิกไม่ครบองค์ประชุมให้นัดใหม่อีกครั้ง โดยมีระยะห่างจากครั้งแรกไม่น้อยกว่า 15 วัน นัดนี้สมาชิกมาประชุมเท่าใดก็ได้ให้ถือเป็นองค์ประชุม

มติในการประชุม ไม่ว่ากรณีใดให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเท่ากันให้ประธานเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 30  เมื่อมีกรณีจำเป็น นายกสมาคมมีอำนาจเรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหาร นายกสมาคมมีอำนาจเรียกประชุมใหญ่เป็นพิเศษได้

ข้อ 31 การนัดประชุมใหญ่นั้น ต้องประกาศกำหนดเวลา สถานที่ประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน

หมวด 6 การเงินและบัญชี

ข้อ 32  รายได้ของสมาคม ให้สมาคมมีรายได้เพื่อสนับสนุนกิจการของสมาคม ดังนี้

  1. จากค่าขึ้นทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
  2. จากการรับบริจาค
  3. ดอกผลจากทรัพย์สินของสมาคม
  4. จากการจัดกิจกรรมการกุศลเพื่อหารายได้ส่งเสริมการศึกษาและกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

ข้อ 33  เงินของสมาคมฝากไว้ ณ ธนาคารอันเป็นหลักฐานโดยใช้ชื่อบัญชี “สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสระแก้ว” แต่เหรัญญิกจะเก็บเงินสดไว้เพื่อสะดวกแก่การจ่ายในการประจำตามปกติได้ การเก็บรักษาเงินของเหรัญญิกในกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ต้องไม่เกิน 20,000 บาท

ข้อ 34  การสั่งจ่ายเงินของสมาคมนั้น ต้องเป็นไปเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

โดยให้นายกสั่งจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาทถ้าสั่งจ่ายเกิน 100,000 บาทแต่ไม่เกิน 700,000 บาท

ให้สั่งจ่ายได้โดยผ่านมติของคณะกรรมการบริหารสมาคม และถ้าเกิน 700,000 บาทให้ผ่านมติของสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ของสมาคมและมตินั้นต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มาประชุมการสั่งจ่ายเงินจากธนาคาร ต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรืออุปนายกคนที่ 2 หรืออุปนายกคนที่ 3 ฝ่ายหนึ่งและเหรัญญิกฝ่ายหนึ่ง รวมเป็นสองฝ่าย ร่วมกันลงลายมือชื่อ

หมวด 7  การแก้ไขข้อบังคับและล้มเลิกสมาคม

ข้อ 35 ระเบียบข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไข และมตินั้นต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มาประชุม

ข้อ 36 ญัตติการขอแก้ไขระเบียบข้อบังคับต้องมาจากคณะกรรมการบริหารหรือสมาชิกซึ่งมีสมาชิกลงนามรับรองไม่น้อยกว่า 50 คน

ข้อ 37 ระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนแปลงตามมติที่ประชุมใหญ่นี้ ให้นายทะเบียนเป็นผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงตามมตินั้น และเริ่มใช้ตั้งแต่วันลงมติไว้นั้นเป็นต้นไป

ข้อ 38 เมื่อที่ประชุมใหญ่มีความเห็นให้ล้มเลิกสมาคม โดยเสียงที่ให้ล้มเลิกไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดที่มาประชุม ให้ถือว่าล้มเลิกสมาคม

ข้อ 39 เมื่อสมาคมต้องล้มเลิกไม่ว่าโดยมติของที่ประชุมใหญ่ หรือโดยประการใดก็ตาม ให้ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลือหลังจากการชำระบัญชีแล้ว ตกเป็นของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษาของโรงเรียนสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว

บทเฉพาะกาล

ข้อ 40 ในระยะแรกให้กรรมการก่อตั้งสมาคมเป็นกรรมการบริหารของสมาคมชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งนายกและทั้งนี้ต้องกระทำภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันได้รับอนุญาตก่อตั้งสมาคม